วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บทที่ 9

สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา


ความหมายของสื่อมวลชนเพื่อการศึกษา

คำว่าสื่อมวลชนหรือการสื่อสารมวลชนเป็นคำซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Mass Communication ซึ่งหมายถึงกระบวนการนำสารหรือการส่งสารไปยังคนจำนวนมาก ค่อนข้างสลับซับซ้อนกว่าการสื่อสารประเภทอื่น ผู้ส่งสารอาจเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งรวมตัวกันเป็นองค์การหรือสถาบันก็ได้ และผู้รับสารจำนวนมากนั้นมักอยู่กระจัดกระจาย ไม่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ต่อกัน ด้วยเหตุที่ ปฏิกริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้นจากผลของการสื่อสารซึ่งไม่ปรากฏโดยตรงหรือทันทีทันใด แต่มักจะแสดงออกในรูปของความพอใจหรือไม่พอใจ โดยสังเกตได้จากพฤติกรรมของผู้รับ ถ้าพอใจมักจะปฏิบัติบ่อยหรือการทำซ้ำ ๆ (สมบูรณ์ สงวนญาติ 2534 :190) การนำเอาวิธีการของสื่อสารมวลชนมาใช้เพื่อการเรียนการสอน เราเรียกว่า การสื่อสารมวลชนเพื่อการศึกษา และเรียกตัวกลางหรือสื่อซึ่งนำสารไปยังคนจำนวนมากกว่า สื่อมวลชนทางการศึกษา
สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา หมายถึง การนำเอาสื่อมวลชนมาใช้เพื่อการถ่ายทอดความรู้เนื้อหาบทเรียน ไปยังผู้เรียนจำนวนมากที่อยู่กระจัดกระจายในเวลาเดียวกัน โดยใช้วิธีการและรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ละประเภทของสื่อมวลชน

ความสำคัญของสื่อมวลชนที่มีต่อการศึกษา

เนื่องจากเทคโนโลยีด้านสื่อมวลชนได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและความเป็นอยู่ของคนในสังคม มีส่วนทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงมาก ส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใดนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระที่นำมาเสนอว่าจะเน้นในด้านใด
เมื่อพิจารณาสภาพการใช้สื่อมวลชนในปัจจุบันเปรียบเทียบกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนที่กำหนดไว้ทั้ง 5 ข้อ คือ เสนอข่าว เสนอความคิดเห็น ให้การศึกษา ให้ความบันเทิง และโฆษณาประชาสัมพันธ์จะพบว่า ทำได้ครอบคลุมบทบาททุกด้าน แต่สัดส่วนอาจจะยังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชนยังน้อยมาก จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามเพื่อนำเอาสื่อมวลชนมาใช้เพื่อประโยชน์ในทางการศึกษาให้มากขึ้น ประกอบกับการศึกษาในระบบโรงเรียนเองก็มีข้อจำกัดมากมายที่น่าจะคลี่คลายให้เบาลงได้ โดยอาศัยคุณลักษณะพิเศษของสื่อมวลชนมาช่วย
1. ความจำเป็นที่จะต้องนำเอาสื่อมวลชนมาใช้ประโยชน์ในทางการศึกษา เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1.1 อัตราเพิ่มของประชากรสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนให้เพียงพอกับจำนวนประชากรได้ เพราะการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นการลงทุนสูงซึ่งเกินกำลังของรัฐที่จะกระจายการศึกษาให้ทั่วถึง
1.2 ประชาชนขาดความเสมอภาคในทางการศึกษา หมายถึงโอกาสในการเข้าศึกษาในระดับต่าง ๆ ตามความต้องการไม่ทัดเทียมกันบางคนมีโอกาสเรียนแค่ระดับประถมศึกษา บางคนมีโอกาสถึงระดับมัธยมศึกษา และส่วนน้อยมีโอกาสถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้โรงเรียนแต่ละโรงเรียนก็ยังมีคุณภาพที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านอาคารสถานที่ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ผู้ที่มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีชื่อเสียงหรือมีความพร้อมสูง ย่อมได้เปรียบ
1.3 ความรู้และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งมีผลทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอันมีผลผลักดันให้คนในสังคมต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาแต่การศึกษาในระบบโรงเรียนมีข้อจำกัดมากมาย จึงจำเป็นต้องหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพเข้าช่วย นอกจากนี้ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ตามแนวความคิดของการศึกษาตลอดชีวิต คือหลังจากจบจากสถาบันการศึกษาแล้ว ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ปัญหาดังกล่าวนี้จะบรรเทาลงได้ โดยใช้ทรัพยากรด้านสื่อมวลชนที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์ โดยนำมาใช้จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้ศึกษาอย่างกว้างขวาง ตามแนวความคิดของการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Education) และนำเอาไปช่วยแก้ปัญหาด้านการสอนในระบบโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนให้สูงขึ้น
นักการศึกษาหลายท่านมีความเห็นว่า สื่อมวลชนมิใช่เป็นเครื่องช่วยในการเรียนการสอน แต่ควรเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องอยู่ในระบบการเรียนการสอนทุกระบบ โดยมีการวางแผนเตรียมการและนำไปใช้อย่างเหมาะสม จะยังประโยชน์ในการเสริมสร้างความรู้ ความคิด ทักษะและเจตคติ ให้แก่ผู้เรียนได้อย่างกว้างขวาง
สื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพย่อมอำนวยคุณประโยชน์แก่กระบวนการเรียนการสอนได้ดังต่อไปนี้
1. สามารถแพร่กระจายความรู้เนื้อหาสาระในสาขาวิชาต่าง ๆ ไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้กว้างขวางขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์
2. เปิดโอกาสให้ประชาชนที่กระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีโอกาสได้รับประโยชน์ทางการศึกษาเท่าเทียมกัน เป็นการขยายห้องเรียนให้กว้างออกไป โดยผู้เรียนไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียน แต่สามารถเรียนได้ตามลำพัง และตลอดเวลา
3. ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัสดุการศึกษาของระบบโรงเรียน ทั้งด้านสถานที่ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ห้องเรียนไม่พอ ขาดผู้สอนที่มีประสบการณ์สื่อการสอนที่จำเป็นมีจำกัด ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้โดยอาศัยสื่อมวลชนเข้าช่วย
4. ช่วยปรับปรุงการสอนของครูซึ่งมีความสามารถแตกต่างกัน ให้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน โดยอาศัยสื่อมวลชนเป็นสื่อในการถ่ายทอดเทคนิควิธีการ ด้วยการให้คำแนะนำและสาธิตการสอนผ่านสื่อมวลชนโดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์ได้ผลดีมาก
5. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของรัฐ ถ้าได้มีการวางแผนเตรียมการอย่าง
รัดกุมจะสามารถจัดการศึกษาให้แก่ประชนได้ครอบคลุม ต่อเนื่องและมีคุณภาพคุ้มกับการลงทุน

บทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน

มีนักการศึกษาและนักสื่อมวลชนได้กำหนดหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ พอสรุปได้เป็น 5 ประการ คือ
1. มีหน้าที่ในการเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงแก่มวลชน ได้แก่ การเสนอข่าวสาร เหตุการณ์ และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ประชาชนทราบตามข้อเท็จจริง โดยไม่จำเป็นต้องสอดแทรกความคิดเห็นใด ๆ ลงไป
2. มีหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นในประเด็นหรือปัญหาใด ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ในนามตัวแทนของประชาชนหรือในลักษณะที่เป็นผู้นำทางความคิดของมวลชน ซึ่งการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากวิจารณ์ จะทำให้ผู้รับมีปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาในลักษณะชอบ หรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ปฏิกิริยาดังกล่าวจะทำให้เกิดการรวมตัวกลายเป็นประชามติได้
3. มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่มวลชน ได้แก่การถ่ายทอดความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ รวมทั้งทัศนคติ ค่านิยม ประเพณีวัฒนธรรม ทักษะ และเทคนิควิธีในการประกอบกิจการงานทั้งทางตรงทางอ้อม
4. มีหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่มวลชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยมุ่งให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน คลายความเครียด และมีสุขภาพจิตที่ดี ได้แก่ รายการเพลง ดนตรี ละคร นิยาย เป็นต้น
5. มีหน้าที่ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การค้า การให้บริการด้านธุรกิจและบริการสาธารณะ

ประเภทของสื่อมวลชน

สื่อมวลชนทางการศึกษา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) วิทยุกระจายเสียง 2) โทรทัศน์ 3) ภาพยนตร์ และ4) สิ่งพิมพ์ สื่อมวลชนทางการศึกษา แต่ละประเภทมีสภาพการทำงานและคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัววิธีการนำสารไปสู่จุดหมายปลายทางแตกต่างกัน ความรวดเร็วในการส่งสารก็ต่างกัน มีความมั่นคงถาวรในการส่งสารไม่เหมือนกัน สื่อมวลชนทางการศึกษา แต่ละประเภทจึงมีประสิทธิภาพในการนำสารต่างกัน

1. วิทยุกระจายเสียง
วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อมวลชนประเภทหนึ่งที่นำสารไปในอากาศ ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและเปลี่ยนกลับเป็นคลื่นเสียง ซึ่งผู้รับสามารถใช้ประสาทหูรับฟังได้ เป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชนะข้อจำกัดในเรื่องเวลาและระยะทางได้ ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันใจ และครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวาง การใช้วิทยุเพื่อการศึกษาสามารถนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่
1.1 การสอนโดยตรง เป็นการใช้วิทยุเพื่อเป็นสื่อการสอนโดยตรงในบางวิชา หรือบางตอนของบทเรียน รายการวิทยุที่ใช้สอนจึงเป็นการเสนอตามเนื้อหาบทเรียนในหลักสูตร การใช้บทเรียนทางวิทยุเพื่อการสอนโดยตรงนี้อาจใช้ได้ในสถานที่ที่ขาดแคลนครู หรือครูผู้สอนอาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเพียงพอก็ได้จึงต้องใช้รายการวิทยุสอนแทน การสอนโดยใช้วิทยุสามารถกระทำได้ดังนี้
1.1.1 ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน โดยผู้สอนอาจวางแผนการสอนโดยนำรายการวิทยุเข้าไว้ในกระบวนการเรียนการสอนด้วย หรือการใช้วิทยุเป็นสื่อเข้ามามีบทบาท เพื่อสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแทนผู้สอนโดยตรงในห้องเรียน ซึ่งผู้สอนจะต้องศึกษาจากตารางการออกอากาศที่กำหนดไว้เพื่อนำรายการนั้นมาสอนให้ตรงกับเวลาสอนของตน ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งการใช้วิทยุในการสอน จึงทำให้มีข้อขัดข้องในเรื่องของเวลาการออกอากาศของบทเรียนนั้นอาจไม่ตรงกับเวลาที่สอนได้
1.1.2 ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ เป็นการบันทึกเสียงรายการวิทยุที่ใช้สอนบทเรียนต่างๆไว้ในเทปเสียงแล้วรวบรวมไว้ในห้องสมุด เพื่อให้ผู้เรียนสามารถขอยืมออกไปเปิดฟังและศึกษาด้วยตนเองเพื่อการเรียนรู้ หรืออาจใช้เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนและสอนเป็นกลุ่มย่อยได้
1.1.3 ใช้เป็นสื่อหลักในการศึกษาตามหลักสูตร ด้วยการจัดการสอนแก่ผู้เรียนในระบบการศึกษาทางไกล โดยการให้ผู้เรียนฟังรายการสอนจากวิทยุเป็นหลัก แล้วศึกษาเพิ่มเติมจากสื่ออื่นๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์หรือการพบกลุ่ม เพื่อเสริมความรู้จากบทเรียนตามที่ได้ฟังมา
1.1.4 ใช้เป็นสื่อเสริมในการศึกษานอกระบบด้วยการใช้รายการวิทยุเป็นสื่อเสริมประเภทหนึ่งโดยใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆเช่น โทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น
1.1.5 ใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกอบรม เป็นการใช้รายการวิทยุ หรือเทปบันทึกเสียงรายการนั้นๆ เพื่อการสอนหรือฝึกอบรมบุคลากรในหน่วยงาน
1.2 การเพิ่มคุณค่าในการสอน เป็นการใช้รายการวิทยุเพื่อปรุงแต่งและเสริมค่าของการสอนในบางวิชาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการเสนอรายการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรบทเรียนนั้นให้ผู้เรียนฟังเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เรียนนั้นแตกฉานยิ่งขึ้น เช่น การสอนภาษาต่างประเทศโดยการพูดจากเจ้าของภาษา การบรรเลงดนตรี เป็นต้น

2. โทรทัศน์
โทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพประเภทหนึ่ง เนื่องจากเป็นสื่อที่ส่งได้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เมื่อมีการนำโทรทัศน์มาใช้ในวงการศึกษา จึงทำให้เกิดคำว่า “โทรทัศน์การศึกษา”(Educational Television) และ “โทรทัศน์การสอน” (Instructional Television) ขึ้น เราสามารถใช้โทรทัศน์เพื่อการศึกษาและการสอนได้ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
2.1 การสอนโดยตรง
การสอนโดยตรง เป็นการใช้โทรทัศน์เพื่อเสนอรายการที่จัดทำขึ้นตามเนื้อหาในหลักสูตรในรูปแบบของโทรทัศน์การสอน การสอนโดยตรงนี้สามารถกระทำได้ทั้งในโทรทัศน์ระบบวงจรเปิดและวงจรปิด ถ้าเป็นการสอนในระบบวงจรเปิดและเป็นการออกอากาศจากสถานีส่งมายังห้องเรียน การสอนลักษณะนี้จะมีครูประจำชั้นคอยเป็นพี่เลี้ยงควบคุมการเรียนและตรวจงานปฏิบัติของผู้เรียนในห้องเรียนนั้น แต่ถ้าเป็นการส่งในระบบวงจรปิด ผู้สอนที่สอนอยู่ในห้องเรียนหรือในห้องส่งจะเป็นผู้รับผิดชอบผู้เรียนทั้งหมดด้วยตนเองโดยไม่มีผู้อื่นควบคุมการเรียนในแต่ละห้องการใช้โทรทัศน์ในการสอนสามารถใช้ได้ดังนี้
2.1.1 ใช้เป็นเครื่องมือในการสอน โดยมีการใช้เป็นชุดการสอนที่สมบูรณ์เนื่องจากมีทั้งภาพและเสียงซึ่งสามารถอำนวยประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ในทุกพิสัย การใช้แบบนี้จะใช้ร่วมกับสื่ออื่นด้วยก็ได้ หรืออาจจะใช้เป็นสื่อในการสอนเป็นคณะ โดยการเชิญวิทยากรอื่นมาร่วมสอนด้วยหลักสำคัญในการใช้โทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการสอนนี้คือ ผู้สอนจะต้องกำหนดแผนการสอนอย่างรัดกุมเสียก่อน และใช้โทรทัศน์โดยการสอนสด หรือใช้รายการที่บันทึกลงวีดิทัศน์ไว้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสอนด้วย
2.1.2 ใช้เป็นสื่อสอนแทนครู ในกรณีที่ขาดแคลนครูผู้สอนหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละวิชาก็อาจใช้โทรทัศน์เพื่ออกอากาศการสอนของครูจากห้องส่งไปยังห้องเรียนในที่ต่างๆได้ การสอนนี้จะเป็นการสอนโดยตรงในแต่ละวิชา
2.1.3 ใช้เป็นสื่อเพื่อเสริมความรู้เป็นการใช้รายการโทรทัศน์เพื่อเสริมความรู้จากเนื้อหาบทเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากที่เรียนในห้องเรียน รายการต่างๆเหล่านี้จะมิใช่เป็นเนื้อหาบทเรียนโดยตรง เช่น รายการตอบปัญหาภาษาอังกฤษ รายการกระจกหกด้าน ฯลฯ แต่จะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับบทเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์และความคิดแก่ผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
2.1.4 ใช้เป็นสื่อในการศึกษาระบบเปิด โดยการใช้โทรทัศน์เป็นสื่อ เพื่อดำเนินการสอนให้แก่ผู้เรียนที่อยู่ตามบ้าน หรือการใช้โทรทัศน์วงจรปิด เพื่อสอนแก่ผู้เรียนที่อยู่ในห้องเรียนต่างๆในมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพราะในมหาวิทยาลัยเปิดจะมีผู้เรียนจำนวนมาก ทำให้นั่งเรียนในห้องเดียวกันไม่พอ นอกจากนี้โทรทัศน์ยังสามารถใช้ในรูปของสื่อหลักหรือสื่อเสริมในการสอนโดยตรงแก่ผู้เรียนอีกด้วย
2.1.5 เพื่อเพิ่มความเสมอภาคในสังคม โดยการใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการสอนหรือให้ความรู้ทั่วๆไป แก่ผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียนก่อนกำหนด ผู้พิการทุพพลภาพไม่สามารถมาโรงเรียนได้ ผู้เรียนกลุ่มพิเศษ หรือประชาชนในชนบทที่ห่างไกลเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

2.2 การเพิ่มคุณค่าทางการสอน
การเพิ่มคุณค่าทางการสอน เป็นการนำรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทเรียนนั้นมาเสนอแก่ผู้เรียนเพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ และเป็นการช่วยเสริมสร้างบรรยากาศทางการเรียนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น รายการที่นำเสนออาจเป็นการบันทึกลงแถบวีดิทัศน์ไว้หรือเป็นรายการสดตามตารางการออกอากาศก็ได้ เช่น สารคดีชีวิตสัตว์ การประดิษฐ์สิ่งของหรือการอภิปรายต่างๆ เป็นต้น การนำรายการโทรทัศน์มาใช้ประกอบการสอนนี้จะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของการสอนในห้องเรียนที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น ด้านประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวเหตุการณ์ระหว่างประเทศ หรืออาจช่วยอธิบายเพิ่มเติมประกอบวิชาที่ยากแก่ครูผู้สอน เช่น ศิลปะ ดนตรี วิทยาศาสตร์ ตลอดจนเป็นการนำแรงกระตุ้นจากภายนอกวิชา เช่น วรรณคดี ซึ่งยากแก่ผู้สอน ก็จะทำให้เกิดความตื่นเต้นและแรงจูงใจในการเรียน

3. ภาพยนตร์
็นส
ภาพยนตร์ หมายถึง ภาพนิ่งเรียงติดต่อกันที่ถูกบันทึกลงบนม้วนฟิล์ม ด้วยกล้องถ่ายภาพยนตร์ เมื่อฉายฟิล์มนั้นไปที่จอภาพ จะปรากฏภาพเคลื่อนไหวติดต่อกันเหมือนธรรมชาติ
ภาพยนตร์การศึกษา หมายถึง ภาพยนตร์ที่เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล เรื่องราว แนวคิด เหตุการณ์ เป็นต้น ให้ผู้ชมได้รับความรู้จากเรื่องราวที่เสนอนั้นโดยไม่จำกัดกลุ่มผู้ชม แต่ถ้าเป็นภาพยนต์เพื่อการสอน จะเป็นภาพยนตร์ที่เสนอความรู้ตามเนื้อหาบทเรียนในหลักสูตรโดยจำกัดกลุ่มผู้ชมซึ่งเป็นผู้เรียนในชั้นเรียน
ถึงแม้ว่าการนำภาพยนตร์มาใช้ในการเรียนการสอน จะให้ความสะดวกน้อยกว่าการใช้วีดีทัศน์ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดบางประการในการใช้และการผลิต เช่น ผู้สอนต้องมีความรู้ความชำนาญในการติดตั้งและใช้เครื่องฉายภาพยนตร์จึงจะทำการสอนได้อย่างราบรื่น หรือภาพยนตร์ที่ดีต้องมีเทคนิคการถ่ายทำที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก เป็นต้น แต่ภาพยนตร์ก็ยังเป็น “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ที่ยังคงดำรงไว้ต่อไปทั้งนี้เพราะภาพยนตร์มีคุณค่าในตัวสื่อมากมายหลายประการและยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าวีดีทัศน์
การใช้ภาพยนตร์เพื่อการสอน
การใช้ภาพยนตร์ในชั้นเรียนนั้น ผู้สอนต้องตั้งจุดประสงค์ว่าจะใช้ภาพยนตร์เพื่อการสอนโดยตรงหรือเพื่อประกอบการสอน ทั้งนี้เพราะภาพยนตร์เรื่องเดียวอาจใช้เนื้อหาเพื่อสนองตามจุดประสงค์ที่แตกต่างกันได้ เช่น เพื่อการสอนทักษะต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ หรือเพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจึงต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะใช้ภาพยนต์ที่จะนำมาใช้ด้วยเพื่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอน นอกจากนี้ ในการใช้ภาพยนต์นั้นอาจจะใช้ทั้งเรื่องหรือเลือกเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งมาใช้สอนก็ได้เพื่อความเหมาะสม ซึ่งผู้สอนควรยึดหลักการดังนี้
3.1 ก่อนนำมาฉายในชั้นเรียน ผู้สอนควรชมภาพยนตร์เรื่องนั้นเสียก่อนเพื่อทราบถึงเนื้อหารายละเอียดและความสำคัญของเนื้อเรื่อง และควรจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ไว้เพื่อการเตรียมความพร้อมผู้เรียน
3.2 ควรมีการเตรียมความพร้อมผู้เรียน เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการชมภาพยนตร์ให้มากที่สุด เช่น การบอกจุดมุ่งหมายและจุดสำคัญของเรื่อง การอธิบายเรื่องย่อ หรือการอธิบายคำยากในเรื่องนั้นเสียก่อน
3.3 ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมขณะฉายภาพยนตร์ซึ่งอาจทำได้โดย
3.3.1 หยุดฉายภาพยนตร์เพื่อให้ผู้เรียนซักถามหรือจดสิ่งสำคัญ
3.3.2 หยุดฉายภาพยนตร์เพื่อทดลองกระทำเกี่ยวกับการฝึกทักษะที่แสดงนั้น
3.3.3 สอดแทรกคำถามให้ผู้เรียนตอบ
3.4 ควรใช้ภาพยนตร์คู่กับสื่ออื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลดีกว่าการใช้ภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียว
3.5 ใช้ภาพยนตร์สีเพื่อเน้นความแตกต่างและแสดงข้อเท็จจริง
3.6 อาจฉายภาพยนตร์บางตอนซ้ำเพื่อย้ำถึงทักษะหรือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น
3.7 ควรมีกิจกรรมให้ผู้เรียนกระทำภายหลังการชมภาพยนตร์ เช่น การสรุปการอภิปราย หรือมอบงานให้ทำเพื่อทบทวนความเข้าใจ

4. สิ่งพิมพ์

สิ่งพิมพ์ หมายถึง ข้อความ ข้อเขียน หรือภาพที่เกี่ยวกับแนวความคิด ข้อมูล สารคดี บันเทิง เป็นต้น ซึ่งถ่ายทอดด้วยการพิมพ์ลงบนกระดาษ ฟิล์ม หรือวัสดุพื้นเรียบอื่น ๆ เพื่อสามารถเผยแพร่ไปยังผู้อ่านจำนวนมากให้ได้รับความรู้และความบันเทิง
สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา หมายถึง สิ่งพิมพ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยบรรจุเนื้อหาสาระที่ดีมีประโยชน์และให้ความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ทั่ว ๆ ไป เช่น ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ สุขภาพอนามัย การใช้เวลาว่าง เป็นต้น ส่วนสิ่งพิมพ์เพื่อการสอน หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้เฉพาะอย่างตามหลักสูตรการเรียน สิ่งพิมพ์เหล่านี้อาจเย็บรวมเล่มหรือเป็นแผ่น ทั้งที่ใช้พิมพ์หรือเขียนด้วยมือก็ได้

4.1 ประเภทของสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิ่งพิมพ์ทั่วไป และสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา ดังนี้
4.1.1 สิ่งพิมพ์ทั่วไป มี 2 ประเภท คือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารวารสารและจุลสาร
1) หนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์เป็นสื่อมวลชนที่สามารถแพร่กระจายไปยังผู้อ่านได้มากและทั่วถึงกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ เป็นแหล่งเผยแพร่เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นกระจกเงาสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย เป็นสื่อมวลชนที่เผยแพร่ความรู้วิทยาการสมัยใหม่และข่าวสารสาระอันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ยังเป็นบ่อเกิดของการหลั่งไหลของข่าวสารในสังคม ซึ่งการหลั่งไหลของข่าวสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและในแง่ของการสอนให้เกิดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะใหม่ ๆ ความรู้ด้านการเกษตร อนามัย สังคม เศรษฐกิจ การเมือง กีฬา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หนังสือพิมพ์จึงมีศักยภาพที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ให้เป็นสื่อมวลชนเพื่อการศึกษาและการพัฒนาได้อย่างดียิ่ง หนังสือพิมพ์สามารถให้ประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างกว้าง ๆ ดังนี้
(1) ช่วยฝึกทักษะในการอ่าน ช่วยให้ผู้อ่านเริ่มอ่านออกเขียนได้หรือผู้ที่ออกจากโรงเรียนแล้วได้ฝึกหัดอ่านอีกเพื่อช่วยป้องกันการลืมหนังสือ
(2) ให้ผู้อ่านได้ศึกษา วิเคราะห์ และวิจารณ์ข่าวสารต่าง ๆ
(3) ให้ความรู้เบื้องต้น ตลอดจนความเคลื่อนไหวในสภาพปัญหาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองในระดับชาติและระดับโลก
(4) ให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ประจำวัน เช่น การค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ตำราหรือหนังสือเรียนอื่น ๆ ทำไม่ได้
(5) เป็นเครื่องวัดระดับความรู้และความสนใจของชุมชน ผู้ที่สนใจจะศึกษาเรื่องราวของชุมชนนั้นสามารถนำหนังสือพิมพ์มาศึกษาได้
(6) สามารถเก็บหนังสือพิมพ์เป็นหลักฐานในการอ้างอิงเรื่องราวต่าง ๆ ได้ยั่งยืน
2) นิตยสาร วารสาร และจุลสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปเล่มของหนังสือที่ออกเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน หรือแล้วแต่ระยะเวลาที่กำหนด สิ่งพิมพ์ประเภทนี้อาจมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการศึกษา โดยตรงแยกเป็นประเภทของวารสาร เช่น วารสารครุศาสตร์ วารสารการวิจัย เป็นต้น หรืออาจเป็นเรื่องราวประเภทต่าง ๆ รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน เช่น ท่องรอบโลกหรือสารคดี เป็นต้น ซึ่งให้ทั้งความรู้และความบันเทิง และอาจมีคอลัมน์เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะรวมอยู่ด้วยก็ได้
4.1.2 สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา
1) หนังสือตำรา เป็นสื่อที่พิมพ์เป็นเล่ม ประกอบด้วยเนื้อหาตามหลักสูตรการเรียนการสอนโดยอธิบายเนื้อหาวิชาอย่างละเอียดชัดเจน อาจมีภาพถ่ายหรือภาพเขียนประกอบเพื่อเพิ่มความสนใจของผู้เรียน หนังสือตำรานี้อาจใช้เป็นสื่อการเรียนในวิชานั้นโดยตรงนอกเหนือจากการบรรยายในชั้นเรียน หรืออาจใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบหรือหนังสืออ่านเพิ่มเติมก็ได้ การใช้หนังสือในการเรียนการสอนนับว่ามีประโยชน์แก่ผู้เรียนทั้งในด้านการศึกษารายบุคคลเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้อ่านในเวลาที่ต้องการ และในด้านเศรษฐกิจเนื่องจากสามารถใช้อ่านได้หลายคนและเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน
2) แบบฝึกปฏิบัติ เป็นสมุดหรือหนังสือที่พิมพ์ขึ้นโดยมีเนื้อหาเป็นแบบฝึกหัดหรือแบบฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะหรือทดสอบผู้เรียน อาจมีเนื้อหาในรูปแบบคำถามให้เลือกคำตอบหรือเป็นต้นแบบเพื่อให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติตามโดยอาจมีรูปประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เช่น แบบคัดตัวอักษร ก.ไก่ เป็นต้น
3) พจนานุกรม เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเป็นคำศัพท์และคำอธิบายความหมายของคำศัพท์แต่ละคำนั้น โดยการเรียงตามลำดับจากตัวอักษรตัวแรกถึงตัวอักษรของภาษาที่ต้องการจะอธิบายคำศัพท์และคำอธิบายจะเป็นภาษาเดียวกันหรือต่างภาษาก็ได้ เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษและมีคำอธิบายเป็นภาษาไทย หรือทั้งคำศัพท์และคำอธิบายต่างก็เป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
4) สารานุกรม เป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเพื่ออธิบายหัวข้อหรือข้อความต่าง ๆ ตามลำดับของตัวอักษร เพื่อให้ผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพื่อความรู้และการอ้างอิง โดยมีรูปภาพ แผนภูมิ ประกอบคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5) หนังสือภาพหรือภาพชุดต่าง ๆ เป็นหนังสือที่ประกอบด้วยภาพต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกันตลอดทั้งเล่ม ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือภาพที่พิมพ์สอดสีสวยงาม เหมาะแก่การเก็บไว้ศึกษาหรือเป็นที่ระลึก เช่น หนังสือภาพชุดพระที่นั่งวิมานเมฆ หรือหนังสือภาพชุด ทัศนียภาพของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น
6) วิทยานิพนธ์และรายงานการวิจัย เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ออกมาจำนวนไม่มากนักเพื่อเผยแพร่ไปยังห้องสมุด สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยนั้น เพื่อให้ผู้สนใจใช้เป็นเอกสารค้นคว้าข้อมูลหรือใช้ในการอ้างอิง
7) สิ่งพิมพ์ย่อส่วน (Microforms) หนังสือที่เก่าหรือชำรุดหรือหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากย่อมไม่เป็นการสะดวกในการเก็บรักษาไว้ จึงจำเป็นต้องหาวิธีเก็บสิ่งพิมพ์เหล่านี้ไว้โดยอาศัยลักษณะการย่อส่วนลงให้เหลือเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการเก็บรักษาและสามารถที่จะนำมาใช้ได้สะดวก จึงมีวิธีการต่าง ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีในการทำสิ่งพิมพ์ย่อส่วน ได้แก่
(1) ไมโครฟิล์ม (Microfilm) เป็นการถ่ายหนังสือแต่ละหน้าลงบนม้วนฟิล์มที่มีความกว้างขนาด 16 หรือ 35 มิลลิเมตร โดยฟิล์ม 1 เฟรมจะบรรจุหน้าหนังสือได้ 1-2 หน้าเรียงติดต่อกันไป หนังสือเล่มหนึ่งจะสามารถบันทึกลงบนไมโครฟิล์มโดยใช้ความยาวของฟิล์มเพียง 2-3 ฟุต ตามปกติจะใช้ฟิล์ม 1 ม้วนต่อหนังสือ 1 เล่ม และบรรจุม้วนฟิล์มลงในกล่องเล็ก ๆ กล่องละม้วนเมื่อจะใช้อ่านก็ใส่ฟิล์มเข้าในเครื่องอ่านที่มีจอภาพหรือจะอัดสำเนาหน้าใดก็ได้เช่นกัน
(2) ไมโครฟิช (Microfiche) เป็นแผ่นฟิล์มแข็งขนาด 4x6 นิ้ว สามารถบันทึกข้อความจากหน้าหนังสือโดยย่อเป็นกรอบเล็ก ๆ หลาย ๆ กรอบ แผ่นฟิล์มนี้จะมีเนื้อที่มากพอที่จะบรรจุหน้าหนังสือที่ย่อขนาดแล้วได้หลายร้อยหน้า ตัวอักษรที่ย่อจะมีสีขาวบนพื้นหน้าหนังสือสีดำสามารถอ่านได้โดยวางแผ่นฟิล์มลงบนเครื่องฉายที่ขยายภาพให้ไปปรากฏบนจอภาพสำหรับอ่านและจะอ่านหน้าใดก็ได้โดยเลื่อนภาพไปมา และยังสามารถนำไปพิมพ์บนกระดาษและอัดสำเนาได้ด้วย

4.2 การใช้สิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา จำแนกได้เป็น 3 วิธี คือ
4.2.1 ใช้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวิชาที่เรียน
4.2.2 ใช้เป็นวัสดุการเรียนร่วมกับสื่ออื่น ๆ
4.2.3 ใช้เป็นสื่อเสริมในการเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์
4.3 การใช้สิ่งพิมพ์ทั่วไปหรือสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษา มาใช้ในการเรียนการสอนได้โดยพิจารณาตามลักษณะของสิ่งพิมพ์และลักษณะของการใช้ ดังนี้
4.3.1 สิ่งพิมพ์ที่เขียนขึ้นในลักษณะของหนังสือตำรา ใช้เพื่อการศึกษาในระบบโรงเรียนตามหลักสูตร
4.3.2 สิ่งพิมพ์ที่เขียนขึ้นในลักษณะบทเรียนสำเร็จรูป เพื่อง่ายต่อการศึกษาด้วยตนเองเหมาะสำหรับใช้ในการศึกษาทางไกลร่วมกับสื่ออื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ เทปเสียงสรุปบทเรียน และการสอนเสริม เป็นต้น
4.3.3 สิ่งพิมพ์เสริมการเรียนการสอน เช่น แบบฝึกปฏิบัติ คู่มือเรียน เป็นต้น อาจใช้ร่วมกับสื่อบุคคลหรือสื่อมวลชนประเภทอื่น ๆ ได้
4.3.4 สิ่งพิมพ์ทั่ว ๆ ไป เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ เป็นต้น ที่มีคอลัมน์หรือบทความที่ให้ประโยชน์ผู้สอนอาจแนะนำให้ผู้เรียนอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้หรือเพื่อนำมาใช้อ้างอิงประกอบการค้นคว้า
4.3.5 สิ่งพิมพ์ประเภทภาพชุด เป็นการให้ความรู้ทางรูปธรรมเพื่อใช้ในการเสริมสร้างประสบการณ์ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเหตุการณ์เรื่องราวหรือสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนขึ้น เช่น ภาพ ชุดชีวิตสัตว์ หรือภาพชุดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

บทสรุป
สื่อมวลชนเพื่อการศึกษา หมายถึง การนำเอาสื่อมวลชนมาใช้เพื่อการถ่ายทอดความรู้เนื้อหาบทเรียน ไปยังผู้เรียนจำนวนมากที่อยู่กระจัดกระจายในเวลาเดียวกัน โดยใช้วิธีการและรูปแบบต่าง ๆ ตามแต่ละประเภทของสื่อมวลชน การนำสื่อมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษานั้นมีสาเหตุมาจาก การเพิ่มจำประชากรอย่างรวดเร็วทำให้การศึกษาในระบบโรงเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ในด้านโอกาสทางการศึกษา และคุณภาพของสถานศึกษา รวมทั้งการพัฒนาความรู้และวิทยาการแขนงต่างๆพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมากมาย ส่งผลให้คนในสังคมต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ซึ่งการนำสื่อมวลชนมาใช้กับการศึกษาจะให้ประโยชน์กับการศึกษาหลายประการ คือ การแพร่กระจายความรู้เนื้อหาสาระในด้านต่างๆไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆได้รับประโยชน์ทางการศึกษาเท่าเทียมกัน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ของโรงเรียน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของรัฐ
สื่อมวลชนที่นำมาใช้กับการศึกษา แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีสภาพการทำงานและคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวแตกกัน ความรวดเร็วในการส่งสารก็แตกต่างกัน มีความมั่นคงถาวรในการส่งสารไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการนำสื่อมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษา จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงธรรมชาติและลักษณะพิเศษของสื่อนั้นๆรวมทั้งศึกษาแนวทางในการนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการศึกษาต่อไป

คำถามทบทวน

1. สื่อมวลชน หมายถึงอะไร
2. สื่อมวลชนมีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง
3. สื่อมวลชนมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
4. การที่ต้องนำเอาสื่อมวลชนมาใช้ประโยชน์ในทางการศึกษา เนื่องมาจากสาเหตุใดบ้าง
5. การนำสื่อมวลชนมาใช้ในการศึกษา จะเกิดประโยชน์กับการศึกษาหรือการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง
6. จงอธิบายความหมายของวิทยุกระจายเสียง
7. โทรทัศน์สามารถนำมาใช้กับการศึกษา และการเรียนการสอนในรูปแบบใดได้บ้าง
8. จงอธิบายข้อแตกต่างระหว่างภาพยนตร์การศึกษา กับภาพยนตร์เพื่อการสอน
9. จงอธิบายความหมายของสิ่งพิมพ์
10. จงยกตัวอย่างสิ่งพิมพ์เพื่อการศึกษามา 5 ชนิด